Translate

สาเหตุของการมีอายุสั้น อายุยืน โรคมาก และโรคน้อย


อาการร้อนหรือเย็นเกินใดที่มีลักษณะเด่นซ้ำกัน เวลาวินิจฉัยแยกภาวะร้อนเย็น ให้สังเกตอาการอื่นๆ     ที่แตกต่างกันประกอบการวินิจฉัย หรือวินิจฉัยจากพฤติกรรมร้อนเย็นยิ่งถูกต้องที่สุด ดังนี้

                 
 พระพุทธเจ้าได้ตรัสเรื่องสาเหตุ ของการมีอายุสั้น อายุยืน โรคมากและโรคน้อยดังข้อความในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔ ข้อที่ ๕๘๐-๕๘๕ ดังนี้
                  ข้อ ๕๘๐ สุภมาณพ โตเทยยบุตร พอนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อะไรหนอแล เป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้พวกมนุษย์ที่เกิดเป็นมนุษย์อยู่ ปรากฏความเลวและความประณีต คือ มนุษย์ ทั้งหลายย่อมปรากฏมีอายุสั้น มีอายุยืน มีโรคมาก มีโรคน้อย มีผิวพรรณทราม มีผิวพรรณงาม มีศักดาน้อย มีศักดามาก มีโภคะน้อย มีโภคะมาก เกิดในสกุลต่ำ เกิดในสกุลสูง ไร้ปัญญา มีปัญญา ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญอะไรหนอแล เป็นเหตุ เป็นปัจจัย      ให้พวกมนุษย์ที่เกิดเป็นมนุษย์อยู่ ปรากฏความเลวและความประณีตฯ
                  ข้อ ๕๘๑ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรมาณพ สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้เลวและประณีตได้ฯ
                จะเห็นได้ว่า พระพุทธเจ้าทรงพบว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่แต่ละคนรับอยู่ เกิดจากกรรม(การกระทำ)ของคนๆนั้นทั้งหมด
                   ข้อ ๕๘๒ พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า ดูกรมาณพ บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม เป็นผู้มักทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง เป็นคนเหี้ยมโหด มีมือเปื้อนเลือดหมกมุ่นในการประหัตประหาร ไม่เอ็นดูในเหล่าสัตว์มีชีวิต จะเป็นคนมีอายุสั้น...
                     ข้อ ๕๘๓ ดูกรมาณพ ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม ละปาณาติบาตแล้ว เป็นผู้  เว้นขาดจากปาณาติบาต วางอาชญา วางศาตรา(อาวุธหรือวิชาเข่นฆ่า)ได้ มีความละอาย(ต่อบาป) ถึงความเอ็นดู อนุเคราะห์ด้วยความเกื้อกูลในสรรพสัตว์และภูตอยู่... จะเป็นคนมีอายุยืน...
                     ข้อ ๕๘๔ ดูกรมาณพ บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม เป็นผู้มีปรกติเบียดเบียนสัตว์ด้วย ฝ่ามือ หรือก้อนดิน หรือท่อนไม้ หรือศาตรา(อาวุธหรือวิชาที่เบียดเบียน) ... จะเป็นคนมีโรคมาก...
                     ข้อ ๕๘๕ ดูกรมาณพ บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม เป็นผู้มีปรกติไม่เบียดเบียนสัตว์ด้วยฝ่ามือ หรือก้อนดิน หรือท่อนไม้ หรือศาตรา(อาวุธหรือวิชาที่เบียดเบียน)... จะเป็นคนมีโรคน้อย...
                      พระพุทธเจ้าตรัสข้อความสำคัญที่เกี่ยวกับสาเหตุของการมีโรคน้อยว่า เป็นผู้มีอาพาธน้อย มีทุกข์น้อย ประกอบด้วยเตโชธาตุอันมีวิบากเสมอกัน ไม่เย็นนัก ไม่ร้อนนัก เป็นอย่างกลางๆ ควรแก่ ความเพียรฯ (พระไตรปิฎก เล่ม ๑๑ ข้อที่ ๒๙๓)
                      แสดงว่า พระพุทธเจ้าทรงค้นพบว่า การปรับสมดุลร้อนเย็น จะทำให้มีโรคน้อย   มีทุกข์น้อย ส่งผลให้มีสภาพร่างกายพร้อมที่จะประกอบความเพียร ซึ่งก็คือร่างกายที่แข็งแรงนั้นเอง
                      พระไตรปิฎก เล่ม ๑๑ ข้อ ๑๓๑ พระพุทธเจ้าตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อน    ภพก่อน กำเนิดก่อน เป็นผู้มีสมาทานมั่นในกุศลธรรม มีสมาทานไม่ถอยหลังในกายสุจริต ในวจีสุจริต ในมโนสุจริต ในการบำเพ็ญทาน ในการสมาทานศีล ในการรักษาอุโบสถ(ปฏิบัติศีลที่สูงขึ้น) ในการปฏิบัติดีในมารดา ในการปฏิบัติดีในบิดา    ในการปฏิบัติดีในสมณะ ในการปฏิบัติดีในพรหม ในความเป็นผู้เคารพต่อผู้ใหญ่ในสกุล และในธรรมเป็นอธิกุศลอื่นๆ
                                                                                                                                                                                               ตถาคตย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เบื้องหน้า แต่ตายเพราะกายแตก เพราะกรรมนั้น อันตนทำสั่งสม พอกพูนไพบูลย์ ตถาคตย่อมครอบงำเทวดา ทั้งหลายอื่นในโลกสวรรค์ โดยสถาน ๑๐ คือ อายุทิพย์ วรรณทิพย์ ความสุขทิพย์        ยศทิพย์ ความเป็นอธิบดีทิพย์ รูปทิพย์ เสียงทิพย์ กลิ่นทิพย์ รสทิพย์ และโผฏฐัพพทิพย์ ครั้นจุติจากโลกสวรรค์นั้นแล้ว มาถึงความเป็นอย่างนี้ ย่อมได้เฉพาะซึ่งมหาปุริสลักษณะนี้ ฯ
                                                                                                                                                                                               
ข้อ ๑๕๖ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ภพก่อนกำเนิดก่อน เป็นผู้ไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลายด้วยฝ่ามือ ก้อนดิน ท่อนไม้ หรือ ศาตราศาตรา(อาวุธหรือวิชาที่เบียดเบียน)  ตถาคตย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เพราะกรรมนั้น อันตนทำ สั่งสม พอกพูนไพบูลย์ ฯลฯ... เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าได้จึงรับผลข้อนี้ คือ มีพระโรคาพาธน้อย มีความลำบากน้อย สมบูรณ์ด้วยพระเตโชธาตุอันยังอาหารให้ย่อยดี ไม่เย็นนัก ไม่ร้อนนัก  อันควรแก่พระปธานเป็นปานกลาง
                  จะเห็นได้ว่า พระพุทธเจ้า ทรงพบว่า การไม่เบียดเบียนตัวเองและผู้อื่นหรือสัตว์อื่นด้วยวิชาหรือวิธีใดๆ      จะทำให้เกิดความสมดุลร้อนเย็นของร่างกาย อันจะทำให้โรคภัยไข้เจ็บลดน้อยลงหรือหายไป
                  พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ส่วนสุด ๒ อย่างนี้ อันบรรพชิต(ผู้ปฎิบัติเพื่อการพ้นทุกข์)ไม่ควรเสพ ส่วนสุด ๒ อย่างนั้นเป็นไฉนคือ การประกอบตนให้พัวพันด้วยกามสุข(กามสุขลิกะ )ในกามทั้งหลาย(กามสุขลิกะ คือ กามคุณ ๕ ได้แก่ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ที่เป็นภัย) เป็นของเลว...ไม่ประเส่ริฐ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑ การประกอบความลำบากแก่ตน(อัตตกิลมถะ) เป็นทุกข์ ไม่ประเสริฐ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑
                ข้อปฏิบัติอันเป็นสายกลาง ไม่เข้าไปใกล้ส่วนสุด ๒ อย่างเหล่านี้ อันตถาคต ได้ตรัสรู้แล้ว กระทำจักษุ กระทำญาณ ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน ก็ข้อปฏิบัติอันเป็นสายกลางนั้น เป็นไฉนคือ อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ นี้แหละ ซึ่งได้แก่ ความเห็น(ความเข้าใจ)ชอบ(คำว่า ชอบ หมายถึง ความถูกต้อง       ถูกตรงสู่การพ้นทุกข์) ความดำริ(ความคิด)ชอบ วาจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีพชอบ เพียรชอบ ระลึกชอบ ตั้งใจชอบ     ข้อปฏิบัติอันเป็นสายกลางนี้แล อันตถาคตได้ตรัสรู้แล้ว กระทำจักษุ กระทำญาณ ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน” (พระไตรปิฎก เล่ม ๑๙ ข้อ ๑๖๖๔)
                จะเห็นได้ว่า พระพุทธเจ้าทรงพบว่า  ทุกข์เกิดจากทางโต่ง ๒ ด้าน ด้านหนึ่งโต่งไปในทางกามสุขลิกะ คือ      กามคุณ ๕ ได้แก่ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ที่เป็นภัย เป็นการโต่งไปในจิตที่หลงเสพหลงเอาสิ่งที่เป็นรูปธรรมหรือวัตถุที่เป็นพิษหรือเกินความจำเป็นมาใส่ชีวิตตนเอง ส่วนอีกด้านหนึ่ง โต่งไปในทางอัตตกิลมถะ คือ จิตที่หลงเสพ/หลงติด/หลงยึดสิ่งที่เป็นนามธรรม จนทำให้เกิดความทุกข์ทรมานกับตัวเอง เป็นการหลงเสพหลงติดหลงยึดเหตุการณ์/วีธีการต่างๆเพื่อสนองนามธรรมที่ติดอยู่ในจิตของตน โดยหลงว่าจะทำให้ตนเป็นสุขหรือพ้นทุกข์ แต่แท้ที่จริงแล้ววิธีนั้นทำให้ตนเองลำบากทุกข์ทรมาน ได้แก่ การทำร้ายทรมานตนเองด้วยวิธีการต่างๆที่รุนแรงเกินไป การผิดศีลด้วยการทำบาป/ทำความชั่ว การไม่ทำบุญ/ไม่ทำความดี การเพิ่มพูนความเศร้าหมองความวิตกกังวลด้วยการยึดมั่นถือมั่นใน”อัตตา ๓ (พระไตรปิฎก เล่ม ๙ ข้อ ๓๐๒ ) ได้แก่  
                ๑. โอฬาริกอัตตา(หลงยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่เป็นวัตถุแท่งก้อนว่าเป็นตัวเราของเราตลอดกาลนาน)
                ๒. มโนมยอัตตา(หลงยึดมั่นถือมั่นรูปที่สำเร็จด้วยจิต คือจิตสร้างจินตนาการสิ่งที่ไม่มีจริงว่ามีจริง คือ ผู้นั้นสร้างจินตนาการจนรู้สึกว่ามีรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสเป็นตัวตน ว่าเป็นจริงมีจริง โดยที่สิ่งนั้นไม่ได้มีจริง รวมถึงการหลงยึด หลงติดหลงเสพรสโลกียสุขที่จิตหลงสร้างขึ้นมา อันเป็นความรู้สึกสุขชั่วคราวเมื่อได้เสพสมใจในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสต่างๆ รวมถึงการกระทบ การรับรู้หรือไม่รับรู้ทุกสภาพทุกเหตุการณ์ แล้วความรู้สึกสุขนั้นก็เลือนหายไปอย่างรวดเร็วเหมือนฟองคลื่น เหมือนพยับแดด ที่เกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว
                ๓. อรูปอัตตา(หลงยึดมั่นถือมั่นสิ่งที่ไม่มีรูป เช่น ความรู้/ความคิด/ความเห็น/ความเข้าใจ/ความดี/ศักดิ์ศรี         ว่าต้องเกิดต้องเป็นต้องมีดังใจเรามุ่งหมาย
                ถ้าไม่ได้ดังใจที่มุ่งหมายที่ยึดมั่นถืดมั่นในอัตตา ๓ ก็ทุกข์ใจ
                ส่วนความเป็นกลางนั้น ในการปฏิบัติแต่ละข้อของมรรคมีองค์ ๘ อันเป็นทางเอกสายเดียวที่พาพ้นทุกข์         ต้องไม่โต่งไปทั้ง ๒ ด้าน คือ ไม่โต่งไปทรมานตนด้วยสิ่งที่เป็นรูปธรรม(กามสุขลิกะ) แต่เป็นกลางในการเอาสิ่งที่เป็นรูปธรรมหรือวัตถุที่เป็นประโยชน์หรือสิ่งที่จำเป็นแท้มาใส่ชีวิตตนเอง และไม่โต่งไปทรมานตนด้วยสิ่งที่เป็นนามธรรม(อัตตกิลมถะ) แต่เป็นกลางในการเอาสิ่งที่เป็นนามธรรมที่เป็นประโยชน์แท้มาใส่ชีวิตตน คือ ไม่ทรมานตนด้วยวิธีการใดๆที่รุนแรงเกินไป หยุดชั่ว ทำดี ทำจิตใจผ่องใส(ไม่ติดไม่ยึดไม่หลงในอัตตา ๓)
                         การเบียดเบียน คือ การทำให้ชีวิตของตนเองหรือผู้อื่นเป็นทุกข์ ซึ่งมี ๒ ด้าน คือ ๑. เบียดเบียนด้วยสิ่งที่เป็นรูปธรรมหรือวัตถุที่ร้อนเย็นไม่สมดุล/เป็นพิษ/เกินความจำเป็น ทำให้เกิดเป็นโรคต่างๆ ๒. เบียดเบียนด้วยสิ่งที่เป็นนามธรรมที่ทำให้ทุกข์ทรมาน ดังที่ พระพุทธเจ้ายังตรัสว่า “ความสั่งสมบาป(ผิดศีล) นำทุกข์มาให้ (ขุทฺทกนิกาย ธมฺมปท. เล่ม ๒๕ ข้อ ๓๐), “... อกุศลธรรมเจริญขึ้น       กุศลธรรมเสื่อม...(พระไตรปิฎกเล่ม ๑๐ ข้อ ๒๕๘),  เมื่อจิตเศร้าหมองแล้ว        ทุคติเป็นอันหวังได้(ม.มู. เล่ม ๑๒ ข้อ ๖๔) ทำให้ร่างกายร้อนเย็นไม่สมดุล เกิดเป็นโรคต่างๆ
                         การไม่เบียดเบียน คือ การไม่ทำให้ชีวิตของตนเองหรือผู้อื่นเป็นทุกข์ ด้วยทางโต่ง ๒ ด้านดังกล่าว จึงเป็นการปฏิบัติ ๒ ข้อหลัก ได้แก่ ๑. เข้าถึงรูปธรรมวัตถุที่สมดุลร้อนเย็น/ไม่เป็นพิษ/ไม่เกินความจำเป็น ทำให้โรคต่างๆลดลงหรือหายไป ๒. เข้าถึงนามธรรมที่ทำให้เกิดประโยชน์สุขที่แท้จริง ดังที่ พระพุทธเจ้ายังตรัสว่า “การไม่ทำบาป(การปฏิบัติศีลด้วยการละสิ่งที่ไม่ดี ทำความดี และทำจิตใจให้ผ่องใส) นำสุขมาให้ (ขุทฺทกนิกาย ธมฺมปท. เล่ม ๒๕ ข้อ ๕๙)”,     “ความสั่งสมบุญ(การปฏิบัติศีลด้วยการละสิ่งที่ไม่ดี ทำความดี และทำจิตใจให้ผ่องใส) นำสุขมาให้ (ขุทฺทกนิกาย ธมฺมปท. เล่ม ๒๕ ข้อ ๓๐)”,เมื่อเขาเสพศีล พรตชีวิต พรหมจรรย์ซึ่งมีการบำรุงดี อกุศลธรรมเสื่อมไป กุศลธรรมเจริญมากยิ่งขึ้น ศีล พรต ชีวิต พรหมจรรย์ ซึ่งมีการบำรุงดี เห็นปานนั้นมีผล(พระไตรปิฎก เล่ม ๒๐ ข้อ ๕๑๘), ...อกุศลธรรมเสื่อม กุศลธรรมเจริญขึ้น...(พระไตรปิฎกเล่ม ๑๐ ข้อ ๒๕๘),  “เมื่อจิตไม่เศร้าหมอง สุคติเป็นอันหวังได้” (ม.มู. เล่ม ๑๒ ข้อ ๖๔) ,     “ทุกข์ย่อมไม่ตกถึงผู้หมดกังวล (สํยุตฺตนิกาย สคาถวคฺค เล่ม ๑๕ ข้อ ๑๒๒)” ทำให้ร่างกายสมดุลร้อนเย็น ทำให้โรคต่างๆลดน้อยลงหรือหายไป
                  พระพุทธเจ้าตรัสว่า ศีลนำมาซึ่งความสุขตราบเท่าชรา(พระไตรปิฎก เล่ม ๒๕ ข้อ ๓๓), มาร(ความทุกข์)ค้นหาอยู่ ย่อมไม่พบทางของท่านผู้มีศีลสมบูรณ์ อยู่ด้วยความไม่ประมาท หลุดพ้นแล้ว เพราะรู้ชอบ” (ขุ. ธ. เล่ม ๒๕ ข้อ ๒๒), “ศีลเป็นที่พึ่งเบื้องต้น  เป็นมารดาของกัลยาณธรรมทั้งหลาย   เป็นประมุขของธรรมทั้งปวง   เพราะฉะนั้นควรชำระศีลให้บริสุทธิ์” ((สีลวเถร) ขุ.เถร. เล่ม ๒๖ ข้อ ๓๕๘) , ศีลเป็นกำลังไม่มีที่เปรียบ ศีลเป็นอาวุธสูงสุด ศีลเป็นเครื่องประดับอย่างประเสริฐสุด ศีลเป็นเกราะอย่างอัศจรรย์( (โสณโกฬิวิสเถร) ขุ. เถร. ๒๖ ข้อ ๓๕๘), ศีลอันเป็นกุศล ย่อมยังความเป็นอรหัตผล(พ้นทุกข์)โดยลำดับ ดังนี้ ๑. อวิปปฏิสาร(ไม่เดือดเนื้อร้อนใจ) ๒. ปามุชชะ(เบิกบานยินดี) ๓. ปีติ(อิ่มใจ)     ๔. ปัสสัทธิ(สงบระงับกิเลส) ๕. สุข(สุขจากทุกข์สงบลง) ๖. สมาธิ(จิตตั้งมั่น) ๗. ยถาภูตญาณทัศนะ(รู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริง) ๘. นิพพิทาวิราคะ(เบื่อหน่ายคลายกำหนัด) ๙. วิมุตติญาณทัสสนะ(รู้แจ้งเห็นจริงในความหลุดพ้นจากทุกข์)(พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๔ ข้อ ๑)
                  ซึ่งศีลอันเป็นกุศลที่แท้จริงนั้นจะประกอบด้วยสมาธิและปัญญา อยู่ด้วยกันปฏิบัติพร้อมกันเป็นหนึ่งเดียว ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า สัจจะมีอย่างเดียวเท่านั้น มิได้มีสอง (พระไตรปิฎกเล่ม ๒๙ ข้อ ๕๔๙) ดังนั้น สัจจะแท้แห่งการ      ไม่เบียดเบียน ก็คือ การละบาป บำเพ็ญบุญ เพิ่มพูนใจไร้กังวล ไปพร้อมกัน(พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๐ ข้อ ๕๔) โดยการปฏิบัติศีล(การละเว้นสิ่งที่เป็นภัย/บาป เข้าถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์/บุญ ทำจิตใจให้ผ่องใส) ด้วยสมาธิ(ความสงบอย่างตั้งมั่นจากสิ่งที่เป็นภัย/บาป ตั้งมั่นในสิ่งที่เป็นประโยชน์/บุญ ทำจิตใจให้ผ่องใส)และปัญญา(ที่ล้างความติดยึดในสิ่งที่เป็นภัย เข้าถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์/บุญ ด้วยจิตใจที่เป็นสุขผ่องใส) เป็นหนึ่งเดียวกันดำเนินไปพร้อมกันในการดำรงชีวิตประจำวัน เพื่อความพ้นทุกข์
ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า  ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภพ ๓ นี้ควรละ ควรศึกษาในไตรสิกขา ภพ ๓ เป็นไฉน คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ ภพ ๓ นี้ควรละ ไตรสิกขาเป็นไฉน คือ อธิศีลสิกขา อธิจิตสิกขา อธิปัญญาสิกขา ควรศึกษาในไตรสิกขานี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อใดแลภพ ๓ นี้ เป็นสภาพอันภิกษุละได้แล้ว และเธอเป็นผู้มีสิกขาอันได้ศึกษาแล้วในไตรสิกขานี้เมื่อนั้นภิกษุนี้เรากล่าวว่า ได้ตัดตัณหาขาดแล้ว คลายสังโยชน์ได้แล้ว ได้ทำที่สุดทุกข์ เพราะละมานะได้โดยชอบ ฯ”  (พระไตรปิฎก เล่ม ๒๒  “ภวสูตรข้อ ๓๗๖.)  
แสดงว่า ไตรสิกขา ได้แก่ การปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา ไปพร้อมกัน เป็นการปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์ และต้องเป็นศีล สมาธิ ปัญญา ที่ปฏิบัติในทุกข้อของมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นทางเอกสายเดียวที่พาพ้นทุกข์ ได้แก่ ความเห็นความเข้าใจ ความคิด การพูด การกระทำ การประกอบอาชีพ ความเพียร การรู้ตัวทั่วพร้อม ที่ชอบ(ถูกต้องถูกตรงสู่การพ้นทุกข์) โดยปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา ในการละบาป บำเพ็ญบุญ เพิ่มพูนใจไร้กังวล ไปพร้อมกัน จนเกิดเป็นสมาธิของพุทธ(สัมมาสมาธิ) ดังพระไตรปิฎกเล่ม ๑๐ ข้อ ๒๐๖ สมาธิปริขาร ๗ ...สัมมาสมาธิ บริขารแห่งสมาธิ ๗ ประการ   เป็นไฉน คือสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ ดูกรท่านผู้เจริญทั้งหลาย ความที่จิตตั้งมั่น แวดล้อมด้วยองค์ ๗ นี้แล พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สัมมาสมาธิอันเป็นอริยะ  มีอุปนิสัย ดังนี้บ้าง มีบริขารดังนี้บ้าง ฯ
                                                                                                                                                                                               
ส่วนอสัตบุรุษ(ผู้ไม่มีศีล)ย่อมไปนรก(เดือดเนื้อร้อนใจ) (สํ. ส. เล่มที่ ๑๕ ข้อ ๙๐) ดังนั้น การผิดศีลข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายข้อ เป็นการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นหรือสัตว์อื่น เป็นกรรม(การกระทำ)อันมีวิบาก(ผล)ให้ร้อนเย็นของร่างกายไม่สมดุล ส่งผลให้เป็นผู้มีโรคมาก

1 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณและอนุโมทนาในจิตอาสาเผยแผ่ความรู้ของท่าน

    ตอบลบ